จากศัตรูพืชสู่แหล่งทำเงิน เกษตรกรไทยจับอาชีพเพาะเลี้ยงหอยทาก ส่งออกเมือกสร้างรายได้ ชาวนาเคยมองว่าหอยทากเป็นศัตรูร้ายทำลายพืชผล เจอที่...
จากศัตรูพืชสู่แหล่งทำเงิน เกษตรกรไทยจับอาชีพเพาะเลี้ยงหอยทาก ส่งออกเมือกสร้างรายได้
ชาวนาเคยมองว่าหอยทากเป็นศัตรูร้ายทำลายพืชผล เจอที่ไหนเป็นต้องหยิบทิ้งหรือโยนลงน้ำ แต่ทุกวันนี้ถ้าใครเจอจะเก็บไว้อย่างทะนุถนอม เพื่อนำไปขายฟาร์มหอยทากที่จะขูด “เมือก” ของมัน ส่งออกเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมความงาม โดยเฉพาะในเกาหลีใต้และสหรัฐฯ
หอยทากขนาดใหญ่หลายตัวค่อย ๆ คืบคลานบนกะละมังพลาสติกที่เต็มไปด้วยอาหารโอชะของพวกมัน ทั้งฟักทองและแตงกวา ภาทินีสิริ แตงเขียว เจ้าของฟาร์มหอยทากหวังว่า เมื่อได้รับสารอาหารที่ดี พวกมันจะสร้างเมือกที่เชื่อว่าอุดมด้วยคอลลาเจน
สำหรับบริษัทด้านความสวยความงามแล้วเมือกหอยทากคุณภาพดี มีมูลค่ายิ่งกว่าทองเสียอีก
Getty Imagesเลี้ยงดูให้กินของดี ๆ
ภาทินีสิริ ครูใน จ.นครนายก ทำฟาร์มเลี้ยงหอยทากเป็นอาชีพเสริม ปัจจุบันเธอมีหอยทากกว่า 1,000 ตัว และมีรายได้จากพวกมัน 10,000 – 20,000 บาทต่อเดือน
“หอยทากมันทำลายพืชผักของชาวบ้าน เขาก็เลยเก็บมาขาย” เธอให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี
Getty Imagesภาทินีสิริ แตงเขียว ครูใน จ.นครนายก ที่ทำฟาร์มหอยทากเป็นอาชีพเสริม
“ทุกทีจะโยนทิ้งให้รถทับหรือโยนลงแม่น้ำ ตอนนี้ก็เอามาขาย เป็นการเพิ่มรายได้”
ความงามจากหอยทาก
กลุ่มวิจัยการตลาด โคฮีเรนต์ มาร์เก็ต อินไซต์ส (Coherent Market Insights) ประเมินว่า ตลาดความงามจากเมือกหอยทากทั่วโลก มีมูลค่าราว 314 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 9,700 ล้านบาท
ภาทินีสิริสาธิตวิธีเก็บเมือกหอยทากโดยหยดน้ำสะอาดลงไปบนตัวหอย แล้วใช้แท่งแก้วค่อย ๆ เขี่ยเมือกออกมา แต่เมือกสด ๆ นั้น ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ ต้องผ่านกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์เพื่อความปลอดภัยก่อน
“ก่อนที่จะเอาเมือกไปใช้ ก็ต้องทำให้เมือกบริสุทธิ์ ปลอดสารเจือปนต่าง ๆ และแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค โดยใช้การกรองผ่านเมมเบรนฟิลเตอร์ (Membrane Filter)” ดร. สมกมล แม้นจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยอธิบาย
Getty Imagesหยดน้ำลงบนตัวหอยทาก แล้วใช้แท่งแก้วค่อย ๆ เขี่ยเมือกลงภาชนะ
ดร.สมกมล ที่ดูแลกระบวนการสกัดเมือกหอยทากในห้องปฏิบัติการเสริมว่า เมือกหอยทากมีส่วนประกอบของคอลลาเจนและอีลาสติน ซึ่งช่วยให้ “ผิวตึง ลดริ้วรอย” และ “กระตุ้นเซลล์ผิวหนัง ช่วยในการสมานแผล”
รศ.ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาสรรพคุณทางการแพทย์และเครื่องสำอางของเมือกหอยทากซึ่งพบว่าสามารถรักษาแผลไฟไหม้ เป็นยาชาเฉพาะที่ ยาสมานแผล ยารักษาทางเดินหายใจ และบำรุงผิว
แต่เธอหมายเหตุไว้ว่า “คุณสมบัติดังกล่าว ไม่สามารถระบุได้ว่าน้ำเมือกสกัดที่ผสมในครีมบำรุงผิว จะให้ผลได้ดีแค่ไหน ทั้งนี้ผลดีทั้งหมดเกิดจากน้ำเมือกสดเท่านั้น แต่ไม่มีการทดสอบกับครีมหอยทากแต่ประการใด”
สอดคล้องกับการรายงานของเอเอฟพีว่า จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่รับรองสรรพคุณของสารสกัดเมือกหอยทาก
กิโลกรัมเกือบแสน
ภาทินีสิริเล่าว่า ช่วงแรกที่หันมาทำฟาร์มหอยทาก ชาวบ้านขายหอยทากให้เธอในราคาถูกมาก เพียง 25-30 บาทต่อกิโลกรัม เพราะพวกมันเป็นภัยต่อพืชผลทางการเกษตรอยู่แล้ว
เมื่อได้เมือกหอยทากมา ภาทินีสิริจะนำเมือกสด ๆ ไปขายให้กับบริษัท เอเดนอินเทอร์เนชันแนล บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางของไทย ที่ส่งออกเมือกหอยทากต่อไปยังเกาหลีใต้และสหรัฐฯ
กฤตพง ภัทรธุวานัน กรรมการบริหาร บริษัท เอเดนอินเทอร์เนชันแนล ระบุว่า เมือกหอยทากของไทยมีคุณภาพสูง โดยมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 80,000 บาท และหากสกัดเป็นผงบริสุทธิ์ จะมีราคามากถึงกิโลกรัมละ 1.8 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าทองคำหนัก 1 กิโลกรัม
กฤตพง ภัทรธุวานัน กรรมการบริหาร บริษัท เอเดนอินเทอร์เนชันแนล จับหอยทากอย่างระมัดระวัง
“ธัญพืชพวกเกรน ถั่ว เปลือกไม้ก็กินได้หมดนะครับ แม้แต่เห็ดก็กิน การที่กินอะไรได้หลากหลาย ทำให้ตัวเขามีความแข็งแรง และสร้างเมือกที่มีคุณภาพดี มีคุณสมบัติในการกันแดด รักษาแผลได้ดีมาก”
อันที่จริง ประเทศจีนส่งออกเมือกหอยทากเช่นกัน แต่กฤตพงชี้ว่า คุณภาพยังต่ำกว่าไทย เพราะของจีนสกัดเมือกหอยทากวันละครั้ง แต่ของไทยจะทิ้งช่วงทำ 3 สัปดาห์ครั้ง ทำให้หอยทากได้พัก
Getty Imagesเคล็ดลับความสวยจากเมือกหอยทาก
สำหรับภาทินีสิริแล้ว การทำฟาร์มเมือกหอยทากสร้างรายได้เสริมค่อนข้างมาก แต่ด้วยความนิยมที่มากขึ้น การแข่งขันจึงเพิ่มสูงตามมา ปัจจุบัน ใน จ.นครนายก มีคนที่ทำฟาร์มหอยทากแบบเธอมากถึง 80 แห่งแล้ว
ข้อมูลจาก ข่าวสดออนไลน์ BBC