จิ้งโกร่ง : ชีววิทยา และ แนวทางการเพาะเลี้ยง จิ้งโกร่ง: ชีววิทยาและความเป็นไปได้ในการเพาะเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ...
จิ้งโกร่ง: ชีววิทยา และ แนวทางการเพาะเลี้ยง
จิ้งโกร่ง: ชีววิทยาและความเป็นไปได้ในการเพาะเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นการนำข้อมูลด้านชีววิทยาที่ได้ทำการศึกษาที่ ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1 (ศูนย์วิจัยแมลงและจุลชีววิทยาปาไม้ ที่ 1 เดิม) ตั้งแต่ปี 2545 ที่ได้ทำการทดลองเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ มาอย่างต่อเนื่อง คุณกอบศักดิ์ วันธงไชย หัวหน้าศูนย์ฯในขณะนั้น ได้ศึกษาวงจรชีวิต (Life cycle) ของจิ้งโกร่ง โดยได้มอบหมายให้คุณสุทิน สิงห์แก้ว เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯประจำโรงเลี้ยงเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลโครงการนี้
ในปีงบประมาณ 2548 ศูนย์ฯได้ทำการศึกษาแนวทางในการเพาะเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากเมื่อศูนย์ได้จัดทำเวปไซด์ขึ้น และมีการเผยแพร่ข้อมูลชีววิทยาเบื้องต้นของจิ้งโกร่ง ทำให้มีผู้สอบข้อมูลต่าง ๆเข้ามาจำนวนมาก ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะจิ้งโกร่ง เป็นแมลงยอดนิยมในกลุ่มของผู้นิยมบริโภคแมลง ศูนย์ฯ จึงได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมจากการศึกษาด้านชีววิทยาที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ แต่พบว่าขณะนี้จิ้งกิ้งโกร่งยังไม่สามารถทำการเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นแมลงเศรษฐกิจได้ เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาการเลี้ยงที่ยาวนานราว 230 วัน และ พวกมันชอบอาศัยอยู่โดดเดี่ยว หากเลี้ยงรวมกันจะต่อสู้กัดกันจนบาดเจ็บและอาจถึงตาย
จิ้งโกร่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Brachytrupes portentosus Licht มีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องที่ เช่น ภาคกลางเรียก จิ้งโกร่ง จิโปม จิ้งหรีดโก่ง จึ้งหรีดหัวโต ภาคอีสานเรียก จิโปม กิหล่อ (ลักขณาและคณะ, 2542) ภาคเหนือเรียก จิกุ่ง
จิ้งโกร่ง เป็นแมลงในอันดับ และวงศ์เดียวกันกับตั๊กแตน หรือ จิ้งหรีด (Order Orthoptera Family Gyllidae) มีรูปร่างอ้วน มีหนวดยาวแบบเส้นด้าย (filiform) หัวมีลักษณะกลมและใหญ่ ปากเป็นแบบกัดกิน (chewing type) ลำตัวมีสีน้ำตาล อมเหลือง อวัยวะวางไข่ของจิ้งโกร่งตัวเมียสั้นกว่าจิ้งหรีดชนิดอื่น ตัวผู้สามารถทำเสียงได้โดยใช้ขอบของปีกคู่หน้าสีกันไปมา อวัยวะทำเสียงดังกล่าวมีลักษณะคล้ายตะไบเรียกว่า file อยู่ที่ขอบด้านในของปีกคู่หน้า และมักใช้ file ถูเข้ากับเส้นขอบแข็ง (scraper) ของปีกด้านซ้าย ทำให้เกิดเสียง ส่วนขาคู่หน้าบริเวณ tibia จะมีอวัยวะคอยรับฟังเสียงพบได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ตัวเต็มวัยมีขนาด 3.7 – 4.4 เซนติเมตร (ลักขณาและคณะ, 2542)
จิ้งโกร่ง เป็นสัตว์ที่ออกหากินตอนกลางคืน ทำรังโดยการขุดรูลงไปอยู่ในดิน เช่น ตามคันนา ทุ่งหญ้า หรือแม้กระทั่งบริเวณบ้านเรือน รูที่พบจะยาว ประมาณ 30- 60 เซนติเมตร (กอบศักดิ์, 2545)
จิ้งโกร่ง เป็นแมลงที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง (ตารางที่ 1) มีโปรตีนสูงถึง 12.8 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม (กัณฑ์วีร์, 2542; พงศ์ธร และประภาศรี, 2526) มีรสชาติดีและเป็นที่ต้องการของตลาด ราคาขายตัวสดอยู่ที่ประมาณตัวละ 0.5 – 1.5 บาท จิ้งโกร่งทอด หรือคั่ว (ภาพที่ 1) มีราคา 1.5 – 2 บาท (ข้อมูลจาก ตลาดทุ่งเกวียน อ. ห้างฉัตร จ. ลำปาง เดือนเมษายน 2550) จิ้งโกร่งที่มีขายในท้องตลาด ทั้งหมดถูกจับมาจากธรรมชาติ ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีจิ้งโกร่งตัวเต็มวัยปริมาณมาก และถูกรวบรวมนำไปล้างทำความสะอาด ก่อนต้มและเก็บในห้องเย็น ทำให้ปัจจุบันมีจิ้งโกร่งขายตลอดปี แต่มีแนวโน้มไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค ปัจจุบันมีการตั้งโรงงานรับซื้อและแปรรูปแมลงกินได้เพื่อการจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เช่น โรงงานรับซื้อแมลงเพื่อบรรจุกระป๋องที่ตั้งอยู่ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจิ้งโกร่งกระป๋อง เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งผลิตขาย จิ้งโกร่งที่มีการขายกันในท้องตลาด มาจากทั้งภายในประเทศ เช่น จังหวัดสุโขทัย และพิษณุโลก และจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศกัมพูชา
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบปริมาณโปรตีน และพลังงาน จากแมลงและเนื้อสัตว์ต่างๆต่อน้ำหนัก 100 กรัม
แหล่งอาหาร | โปรตีน (กรัม) | พลังงาน (กิโลแคลอรี่) |
จิ้งโกร่ง | 12.8 | 112.9 |
แมลงกุดจี่ | 17.2 | 108.3 |
แมลงกระชอน | 15.4 | 125.1 |
ตั๊กแตนใหญ่ | 14.3 | 95.7 |
ไข่มดแดง | 7 | 82.8 |
เนื้อไก่ (ขา) | 20.6 | 130 |
เนื้อไก่ (อก) | 23.4 | 117 |
เนื้อวัว | 21.5 | 160 |
เนื้อหมู | 19.5 | 170 |
ปลาดุก | 23.0 | 176 |
ไข่ไก่ | 12.7 | 145 |
ที่มา : กัณฑ์วีร์ (2542)
ลักษณะทั่วไป
ไข่ (Egg)
มีลักษณะเป็นรูปวงรีคล้ายเม็ดข้าวสารสีเหลืองอ่อน – ขาวขุ่น เป็นมันวาว (ภาพที่ 2) มีเส้นสีดำยาวตามความยาวของไข่เห็นได้ชัดเจนและมีเส้นสีดำเล็ก ๆ พาดขวางหลายเส้น มีจุดสีดำเล็ก ๆ 2 จุดบริเวณด้านหนึ่งของไข่ ไข่มีความยาว 0.04 เซนติเมตร กว้าง 0.012 เซนติเมตร
ตัวอ่อน (Nymph)
มีรูปร่างคล้ายกับตัวเต็มวัย แต่ไม่มีปีก โดยพบว่าตัวอ่อนระยะที่ 1 มีขนาดประมาณ 0.48 – 0.50 เซนติเมตร มีแพนหาง (cerci) ที่อยู่ปลายส่วนท้องชัดเจน หนวดมีความยาวมากกว่าลำตัว (ภาพที่ 3) เมื่อตัวอ่อนมีอายุมากขึ้นสามารถบอกเพศได้ โดยตัวเมียจะมีอวัยวะวางไข่ ที่มีลักษณะคล้ายเข็ม ที่ปลายส่วนท้อง ปีกทั้ง 2 คู่ จะยาวขึ้นตามระยะตัวอ่อน
ตัวเต็มวัย (Adult)
สีน้ำตาลเข้ม หนวดยาวเป็นแบบเส้นด้าย (filiform) ส่วนขามีสีจางกว่าส่วนอื่น ขาคู่หน้า และขาคู่ที่สอง เป็นแบบขาเดิน (walking leg) ส่วนขาคู่ที่ 3 เป็นแบบกระโดด(jumping leg) โคนขาบน (femer) มีขนาดใหญ่ อกปล้องแรกมีลักษณะคล้ายปลอกคอ แยกออกจากปล้องที่ 2 และ 3 ชัดเจน จิ้งโกร่งตัวผู้ มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย (ภาพที่ 4) คือมีขนาดลำตัวยาว 3.5 – 3.8 เซนติเมตร ปีกขรุขระมองเห็นได้ขัดเจน ส่วนตัวเมียมีขนาด 3.5-3.8 เซนติเมตร ปีกเรียบ ตรงปลายส่วนท้องมีอวัยวะวางไข่ (Ovipositor) ลักษณะคล้ายเข็มยื่นยาวออกมาเห็นชัดเจน
ชีววิทยาของจิ้งโกร่ง การจับคู่ผสมพันธุ์
ตัวเต็มวัยอยู่ในช่วงเดือนกันยายน ถึง พฤศจิกายน โดยในช่วงนี้ จิ้งโกร่ง ตัวผู้จะทำเสียงเพื่อเรียกตัวเมีย เมื่อตัวเมียเดินมาหา ตัวผู้จะเดินวนเวียนไปมารอบ ๆตัวเมีย มักพบการต่อสู้ของตัวผู้เพื่อแย่งตัวเมียอยู่เสมอ พฤติกรรมการผสมพันธุ์เกิดขึ้นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์จะวิ่งไล่และพยายามเอาหัวซุกไปที่ท้องตัวผู้ ใช้เวลาประมาณ 20 – 30 นาที จากนั้นตัวผู้จะอยู่นิ่งๆ และตัวเมียขึ้นไปอยู่บนหลัง ตัวผู้จะกระดกปลายส่วนท้องขึ้น ในขณะที่ตัวเมียโน้มอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ต่ำกว่าอวัยวะวางไข่เล็กน้อย ให้แนบกับถุงน้ำเชื้อของตัวผู้ ถุงน้ำเชื้อนี้มีลักษณะเป็นถุงใสๆ ถุงนี้จะมาติดอยู่ที่ปลายส่วนท้องของตัวเมีย ช่วงนี้ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที จากนั้นตัวผู้จะพักอยู่นิ่งประมาณ 5 – 10 นาที และพร้อมจะผสมพันธุ์ใหม่ ส่วนตัวเมียหลังจากที่ถุงน้ำเชื้อจากตัวผู้ติดที่ปลายส่วนท้อง แล้วจะอยู่นิ่ง ๆระยะหนึ่ง จากนั้นมันจะโก่งตัวขึ้นแล้วใช้ขาคู่กลางเขี่ยถุงน้ำเชื้อออก (พบว่าตัวเมียบางตัวใช้ขาคู่หลังแทน) และมักจะกินถุงน้ำเชื้อนั้น พบว่า มีการผสมมากกว่า 1 ครั้งในแต่ละคู่ ถ้าตัวเมียไม่ได้เขี่ยถุงน้ำเชื้อออกและอยู่นิ่งนานเกินไป ตัวผู้จะเป็นฝ่ายเข้ามาวิ่งไล่และใช้ขาคู่หน้าของตัวเองเขี่ยถุงน้ำเชื้อให้หลุดออกจากตัวเมีย หลังจากนั้นตัวเมียจะขุดรูลงไปอยู่ในดินและปิดปากรูที่ขุดนั้น เพื่อวางไข่ และจะไม่สนใจตัวผู้อีกเลย หากตัวผู้ขุดรูไปพบตัวเมียก็จะเกิดการต่อสู้กัน และส่วนใหญ่ตัวผู้จะเป็นฝ่ายที่หนี ในบางครั้งมักจะบาดเจ็บ และตายในที่สุด
การวางไข่
พฤติกรรมการวางไข่ของจิ้งโกร่งที่เลี้ยงในขวดโหลพลาสติก สูง 20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เซนติเมตร ใส่ดินประมาณ 9 – 10 เซนติเมตร พบว่าตัวเมียไม่วางไข่ที่ผิวหน้าดิน แต่จะขุดดินวางไข่อยู่เป็นกลุ่มที่ก้นขวด บางตัวขุดรูวางไข่ลึกเพียง 2 – 8 เซนติเมตร ตัวเมียจะใช้อวัยวะวางไข่แหย่ลงไปในดิน วางไข่ครั้งละ 1 ฟอง ในแบบ แนวตั้งและแนวทะแยง ซึ่งจะทำให้ไข่ตั้งขึ้น โดยจะวางติดกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 30 – 70 ฟอง จากนั้นจะขึ้นจากรูและดันดินลงไปปิดปากรู แต่บริเวณที่ไข่กองอยู่จะมีลักษณะเป็นโพรง แล้วจะขุดรูเพื่อวางไข่อีก ตัวเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้ 30 – 385 ฟอง วางไข่เป็นกลุ่ม (ภาพที่ 5) เฉลี่ยกลุ่มละ 43.60 ฟอง ตัวเมีย 1 ตัว วางไข่เฉลี่ย 123 ฟอง จากการทดลองทั้งหมด 62 คู่ (ตารางที่ 2) พบว่าตัวเมียบางตัวตายก่อนที่จะวางไข่หมด เนื่องจากมีไรดินมารบกวน และเมื่อนำตัวเมียที่ตายมาผ่าท้องดูพบว่าบางตัวยังมีไข่อยู่ในท้องเป็นจำนวนมาก ระยะเวลาที่ตัวเมียจับคู่ผสมพันพันธุ์ วางไข่ จนกระทั่งตาย ใช้เวลาประมาณ 34.13 วัน (กอบศักดิ์ ,2545)
การฟักไข่
การฟักไข่จะอยู่ประมาณปลายเดือนตุลาคม ถึง ต้นเดือนธันวาคม จากการทดลองศึกษาวงจรชีวิต ของจิ้งโกร่ง ในกล่องเลี้ยง พบว่าช่วงอายุไข่เฉลี่ย 56.10 วัน ซึ่งไข่จะใช้เวลาประมาณ 15 – 60 วัน ก็จะเริ่มฟักเป็นตัวอ่อน และอาศัยอยู่ในโพรงดิน (ภาพที่ 6) แต่จะมีบางตัวออกมาบนผิวดินและหาขุดรูใหม่ จิ้งโกร่งที่ฟักออกมาจะมีลำตัวยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร น้ำหนักโดยประมาณ 0.0048 กรัม อัตราการฟักเพียงร้อยละ 40.70 (กอบศักดิ์, 2545) ในปี 2549 – 50 หลังจากได้ปรับปรุงเทคนิคบางประการทำให้มีอัตราการฟัก สูงสุดถึงร้อยละ 83.9 โดยการฟักมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 51.80
พืชอาหาร
ตัวอ่อนระยะแรก จะอยู่รวมกันในรูวางไข่ ลึกประมาณ 1.5 – 3.5 เซนติเมตร และเมื่อตัวอ่อนมีอายุมากขึ้นจะแยกกันขุดรู ซึ่งตัวอ่อนที่มีขนาด 1.2 – 1.5 เซนติเมตร สามารถแยกเพศได้จาก ตัวเมียมีอวัยวะวางไข่ ที่ปลายส่วนท้อง ปีกทั้ง 2 คู่ จะยาวขึ้นตามระยะตัวอ่อน ตัวอ่อน สามารถกินใบพืชหลากหลายชนิด โดยเฉพาะใบพืชที่มีรสชาดฝาดอมเปรี้ยว เช่น ใบส้มลม (ชื่อท้องถิ่นอีสาน) ซึ่งจิ้งโกร่งชอบกินมากที่สุด (ภาพที่ 7) และยังพบว่ากินใบมะขาม ใบมันสับปะหลัง ใบมะกอก ใบมะม่วง ใบมะยม หรือวัชพืชต่าง ๆ เช่น หญ้าปากควาย หญ้าแห้วหมู หญ้าตีนกา หญ้าปล้อง ข้าวนก (หญ้าตีนนก) หญ้าใต้ใบ (ลูกใต้ใบ) ตีนตุ๊กแก ผักเบี้ยหิน (ผักโขมหิน) หูปลาช่อน (หางปลาช่อน, ผักบั้ง, ผักแดง) น้ำนมราชสีห์ นอกจากนี้ จิ้งโกร่งสามารถกินผักและผลไม้ต่างๆ ด้วย เช่น แตงกวา แตงโม สับปะรด ฝรั่ง และยังพบว่าสามารถใช้ปลาป่นแห้งและขนมปังเป็นอาหารได้
กอบศักดิ์, 2545 พบว่า วงจรชีวิตของจิ้งโกร่ง มี 7 ระยะ วงจรชีวิต เฉลี่ย 333.30 วัน ในการแยกเลี้ยงเดี่ยว มีอัตราการรอดตาย 25 % ตัวเต็มวัยที่ได้มีอัตราส่วนเพศผู้ : เพศเมีย เท่ากับ 1:1.5 (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 2. วงจรชีวิต (Life cycle) ของจิ้งโกร่ง ในห้องปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ ที่ 1
ระยะของแมลง ระยะเวลา (วัน) ( SD)
การฟักไข่ (Hatchihg) 56.10 15.03
ระยะตัวอ่อน (Nymph period) 173.70 19.86
ตัวอ่อนระยะที่ 1 (1st instar) 9.95 2.52
ตัวอ่อนระยะที่ 2 (2nd instar ) 13.92 2.4
ตัวอ่อนระยะที่ 3 (3rd instar ) 18.9 3.2
ตัวอ่อนระยะที่ 4 (4th instar ) 26.14 3.72
ตัวอ่อนระยะที่ 5 (5th instar) 30.4 2.30
ตัวอ่อนระยะที่ 6 (6th instar ) 34.6 2.61
ตัวอ่อนระยะที่ 7 (7th instar) 39.8 3.03
อายุของตัวเต็มวัย (Longivity of adult , ตั้งแต่ลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยจนกระทั่งตาย)
ตัวผู้ (Male) 86.5 12.02
ตัวเมีย (Female) 109.7 25.32
ระยะก่อนวางไข่ (Pre ovipositional period ,days) 87.67 14.74
ระยะหลังวางไข่ (Post ovipositional period ,days) 22.33 9.50
จำนวนไข่ต่อตัวเมีย 1 ตัว (Number of egg per female) 123.00 46.44
เปอร์เซ็นต์การฟักเป็นตัว (Hatching percentage) 40.70
อัตราการรอดตาย (Survival rate) 25 %
วงจรชีวิต (Life cycle ; days) 333.3 4.74
อัตราส่วนเพศผู้ : เพศเมีย (Sex ratio ; Male : Female) 1 : 1.5
ฤดูผสมพันธุ์ (Mating season) กันยายน – ตุลาคม
หมายเหตุ วิธีการศึกษา โดยใช้ไข่จากแม่พันธุ์ และแยกเลี้ยงเดี่ยวในกล่องพลาสติก
การเพาะเลี้ยงจิ้งโกร่งในเชิงเศรษฐกิจ
การเพาะเลี้ยงจิ้งโกร่งในเชิงเศรษฐกิจ
การศึกษาเทคนิคเพาะเลี้ยงจิ้งโกร่งในเชิงเศรษฐกิจ ของศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1 พบปัญหาจาก นิสัยตามธรรมชาติของจิ้งโกร่งที่ชอบอยู่เดี่ยวๆ มักต่อสู้กันเอง มีอัตราการตายสูง จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเทคนิค และวิธีการอยู่เสมอ เพื่อเพื่อพัฒนาให้สามารถเลี้ยงรวมกันได้ เพิ่มอัตราการรอดตาย และลดต้นทุน เช่น การลดปริมาณดิน-ไม่ใช้ดินในที่เพาะเลี้ยง การใช้ท่อ PVC ทำที่อยู่อาศัยแทนการขุดรู และการจัดการด้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาในปี 2549 ถึง 52 พบว่า
การเลี้ยงในกล่องพลาสติกขนาดเล็ก (10 X 7 X 5.5 เซนติเมตร) ที่ใช้เลี้ยงอยู่เดิม สามารถใช้ได้ในการศึกษาเทคนิคบางประการเท่านั้น เนื่องจาก มีปัญหามากในการจัดการ ต่างๆ เช่นการให้อาหาร การทำความสะอาดกล่องเลี้ยง และจากการที่จิ้งโกร่งชอบขุดรูอยู่ ทำให้ต้องใช้ดินมาก ในปี 2549 จึงได้ทดลองการแยกเลี้ยงตัวอ่อนระยะที่ 4 ในกล่องขนาดเล็ก และลดปริมาณดินเหลือ 3-4 เซนติเมตร พบว่าจิ้งโกร่งไม่สามารถขุดรู เพื่ออาศัยได้ แต่จะนำดินมากองรอบๆตัว และพบจิ้งโกร่งส่วนมากตาย โดยมีจากสาเหตุตัวไรสีแดงขนาดเล็ก
ในปี 2550-51 ได้ศึกษาแนวทางการเพาะเลี้ยงใน 3 วิธี คือ
- การเลี้ยงรวมตั้งแต่ฟักออกจากไข่ ในกล่องโฟมขนาด 12 X 24 X 12 นิ้ว บุพื้นด้วยพลาสติกใสเพื่อป้องกันการกัดกล่องโฟม และเลี้ยงตัวอ่อนตั้งแต่ฟักออกจากไข่จำนวน 100 ตัว ต่อกล่อง โดยใช้ดินหนา 2 เซนติเมตร และไม่ใช้ดิน เลี้ยงโดยพืชอาหารสดร่วมกับอาหารปลากินพืชและอาหารไก่ ตัวอ่อนที่เลี้ยงรวมกันในกล่องที่ไม่ใช้ดิน 1 กล่อง มีอัตราการรอดตายสูงมากจนถึงการลอกคราบเข้าระยะที่ 2 แต่ตายหมดหลังการเลี้ยงไม่ถึง 2 เดือน เนื่องจากเกิดโรคจากแบคทีเลีย ในขณะที่ตัวอ่อนที่เลี้ยงในกล่องที่ใส่ดิน เมื่อเข้าระยะที่ 2 เหลือประมาณ 30 กว่าตัว (นับจากขุยดิน) แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดโรคระบาดตายหมดเช่นเดียวกัน
- การเลี้ยงรวมในระยะที่ 1 และแยกเลี้ยงเดี่ยว ในระยะที่ 2 ในกล่องพลาสติกขนาดเล็กที่ใส่ดินจนเต็ม แล้วแยกเลี้ยงตัวอ่อนระยะที่ 3-4 ในตู้ปลาขนาด 12 X 24 X 12 นิ้ว ที่ใส่ดินเพียงเล็กน้อย หนาประมาณ1 เซนติเมตร จำนวน 10 ตัว โดยจัดให้มีท่อ PVC ขนาด 4 หุนยาว 4 นิ้ว 20 ท่อน เลี้ยงด้วยพืชสดและอาหารปลากินพืช พบว่ายังมีการต่อสู้และกัดกันจนบาดเจ็บ-ตาย บางตัวใช้เวลาในการพยายามขุดจนอ่อนแรงตายในที่สุด และ และคอยใส่เพิ่มให้ครบ 10 ตัว (ในช่วงระยะเวลา 1 เดือน) แต่ไม่มีตัวอ่อนที่รอดตายและเติบโตเป็นตัวเต็มวัย
- แยกเลี้ยงในถ้วยพลาสติกทรงสูงขนาด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 สูง 5 นิ้ว ในวิธีต่าง เช่น ใช้ดิน ไม่ใช้ดิน พืชอาหาร และอาหารสด ในจำนวนที่แตกต่างกัน เช่น 1 2 3 และ 4 ตัว พบว่ามีแนวโน้มที่จะเลี้ยงได้ จากการเลี้ยงทุกวิธี แต่ยังมีการรอดตายต่ำและยังมีต้นทุนจากการให้-เปลี่ยนอาหาร และการทำความสะอาดกล่องเลี้ยงวันเว้นวัน โดยจิ้งโกร่งตัวเต็มวัยที่ได้ ไม่ค่อยกระโดดจับง่าย และพบว่า สามารถประยุกต์ใช้ในการศึกษาวงจรชีวิตได้ดี กว่าการเลี้ยงในดิน
ศูนย์วิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ที่ 1 ได้พัฒนาการเลี้ยงโดยไม่ใช้ดินในถ้วยพลาสติก ในปี2552 โดยใช้ตัวอ่อนที่ฟักในวันเดียวกัน (51วัน) จำนวน 4 วิธี วิธีละ 10 ถ้วย คือ เลี้ยงถ้วยละ 1 ตัว และ 2 ตัว โดยใช้พืชอาหารและอาหารปลากินพืช ทำการเปลี่ยนถ่ายอาหารและล้างถ้วยทุก 2 วัน พบว่า สามารถเลี้ยงถ้วยละ 2 ตัวได้ โดยผลการศึกษาระยะตัวอ่อน ที่เลี้ยงด้วยพืชสดถ้วยละ 1 และ 2 ตัว และ ถ้วยที่เลี้ยงด้วยอาหารปลากินพืชถ้วยละ 2 ตัว โดยได้แยกเลี้ยงเดี่ยวเมื่อเข้าระยะที่ 4 ทุกตัว พบว่า ระยะตัวอ่อนมี 6-9 ระยะ และอัตราการรอดตายเป็นตัวเต็มวัย เท่ากับ 40% 15% และ 35% มีระยะเวลาช่วงที่เป็นตัวอ่อน คือ 242.75 261.33 และ 245.43 วัน (Table 3-5)
Table 3 1 Nymph /cup and feed by fresh food plant.
Instar | No.1 | No.2 | No.3 | No.4 | ค่าเฉลี่ย |
1st | 47 | 48 | 49 | 48 | 48.00 |
2nd | 79 | 50 | 56 | 92 | 69.25 |
3rd | 12 | 40 | 25 | 10 | 21.75 |
4th | 14 | 49 | 22 | 21 | 26.50 |
5th | 59 | 24 | 37 | 16 | 34.00 |
6th | 32 | 35 | 15 | 58 | 35.00 |
7th | | | 33 | | 33.00 |
Sum. | 243 | 246 | 237 | 245 | 242.75 |
Sex | เพศผู้ | เพศผู้ | เพศเมีย | เพศผู้ |
Table 4 2 Nymph /cup and feed by Fish food.
Instar | No.1 | No.2 | No.3 | average |
1st | 29 | 25 | 25 | 26.33 |
2nd | 51 | 36 | 92 | 59.67 |
3rd | 23 | 72 | 12 | 35.67 |
4th | 53 | 22 | 27 | 34.00 |
5th | 28 | 48 | 30 | 35.33 |
6th | 19 | 22 | 44 | 28.33 |
7th | 34 | 33 | 33 | 33.33 |
8th | 26 | | | 26.00 |
Sum. | 263 | 258 | 263 | 261.33 |
Sex | female | female | male |
Table 5 2 Nymph /cup and feed by fresh food plant.
Instar | No.1 | No.2 | No.3 | No.4 | No.5 | No.6 | No.7 | average |
1st | 83 | 50 | 20 | 21 | 20 | 20 | 50 | 37.71 |
2nd | 13 | 17 | 106 | 101 | 102 | 95 | 52 | 69.43 |
3rd | 19 | 33 | 23 | 23 | 15 | 23 | 26 | 23.14 |
4th | 71 | 14 | 20 | 11 | 46 | 12 | 24 | 28.29 |
5th | 27 | 18 | 34 | 11 | 33 | 10 | 10 | 20.43 |
6th | 32 | 25 | 59 | 17 | 34 | 105 | 13 | 40.71 |
7th | | 36 | | 17 | | | 30 | 27.67 |
8th | | | | 24 | | | 36 | 30.00 |
9th | | | | 37 | | | | 37.00 |
Sum. | 245 | 193 | 262 | 262 | 250 | 265 | 241 | 245.43 |
Sex | male | female | female | male | male | female | male |
ความเป็นไปได้ในการเพาะเลี้ยงจิ้งโกร่งในเชิงเศรษฐกิจ
จากการที่จิ้งโกร่งไม่ชอบอยู่ในที่เปิดโล่ง หรืออยู่เป็นกลุ่ม แต่ชอบขุดรูอยู่เดี่ยวๆ แม้บางครั้งอาจพบตัวผู้อยู่ร่วมกับตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์ และ จิ้งโกร่งมีนิสัยดุต่างกับจิ้งหรีด พวกมันมักจะต่อสู้กันแทบทุกครั้งที่พบกัน โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่พวกมันออกมาหากิน พฤติกรรมการต่อสู้กันเริ่มพบได้ตั้งแต่ระยะตัวอ่อนระยะที่ 2 จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้จิ้งโกร่งที่เลี้ยงรวมกันบาดเจ็บและตาย จึงทำให้ในสภาพปกติจะไม่สามารถเลี้ยงรวมกันในปริมาณมาก และให้อยู่ในพื้นที่จำกัดได้
จึงอาจกล่าวได้ว่า ขณะนี้ ยังไม่สามารถเลี้ยงจิ้งโกร่งในเชิงเศรษฐกิจได้ เนื่องจากวงจรชีวิตของจิ้งโกร่งที่ใช้เวลาประมาณ 230 วัน นั่นคือ ภายในระยะเวลา 1 ปี สามารถเพาะเลี้ยงได้เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ที่สำคัญ อัตราการรอดตายค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ราคาขายของจิ้งโกร่งในท้องตลาด ประมาณ 0.5 – 1.0 บาท/ ตัว ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และจิ้งโกร่งเป็นแมลงที่ต้องมีพื้นที่หากิน โดย กอบศักดิ์ ได้ทำการศึกษาในปี 2545 พบว่า ในวงบ่อปูนซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 75 เซนติเมตร สามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 30 ตัว ซึ่งหากจิ้งโกร่งที่เลี้ยงทั้งหมดรอดเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งใช้เวลานานกว่า 250 วัน ผู้เลี้ยงจะมีรายได้เพียง 30 บาท เท่านั้น
ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่น่าจะใช้สำหรับการเพาะเลี้ยงจิ้งโกร่งได้ในขณะนี้ คือ การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจากพ่อแม่พันธุ์ตามธรรมชาติ หรือนำพ่อแม่พันธุ์ปล่อยในพื้นที่ที่ต้องการแต่ให้อยู่แบบธรรมชาติ เพื่อเป็นผลพลอยได้จากการใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น บริเวณบ้านที่มีความชื้น และมีวัชพืช เช่นหญ้า ขึ้นอยู่ หรือบริเวณร่องสวนผลไม้ ที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและคอยกำจัดสัตว์ที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติ เช่น กิ้งก่า หนู เป็นต้น
—————————————————————————
—————————————————————————
เอกสารอ้างอิง กอบศักดิ์ วันธงชัย . 2545. การศึกษาชีวประวัติของจิโปม . รายงานประจำปี ศูนย์วิจัยและควบคุมศัตรูป่าไม้ที่ 1 จังหวัดลำปาง, กรมป่าไม้.กัณฑ์วีร์ วิวัฒน์พาณิชย์.2542 แมลงอาหารมนุษย์ในอนาคต.โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก,กรุงเทพฯ. 226 น.พงศ์ธร สังข์เผือก และประภาศรี ภูวะเสถียร. 2526. คุณค่าอาหารของแหล่งโปรตีนของชาวชนบท: แมลง. โภชนาการสาร 17(1): 5-12.สาวิตรี มาไลยพันธุ์ และ คณะ. 2538. บทปฏิบัติการกีฏวิทยาเบื้องต้น . ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2542. 266 น.