คุณทวีศักดิ์ โทบุตรดี เกษตรกรอายุ 30 ปี แห่งบ้านซำเบ็งน้อย เลี้ยงผึ้งมานาน 5 ปี ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดมาจากบิดา (คุณประเดิม โทบุตรดี (ล...
คุณทวีศักดิ์ โทบุตรดี เกษตรกรอายุ 30 ปี แห่งบ้านซำเบ็งน้อย เลี้ยงผึ้งมานาน 5 ปี ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดมาจากบิดา (คุณประเดิม โทบุตรดี (ลุงเดิม) ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเลี้ยงผึ้งซำเบ็งน้อย ) ปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งชำเบ็งน้อย มีสมาชิกทั้งสิ้น 5 คน โดยผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งของกลุ่ม เป็นน้ำผึ้งบริสุทธิ์ 100% ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP 4 ดาว ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งน้ำผึ้งบริสุทธิ์ 100% ของทางกลุ่มนั้นจะนำไปจำหน่ายในงานเทศกาลต่างๆทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้เกษตรกรเดือนละหลายหมื่นบาท พี่น้องเกษตรกรท่านใดสนใจอยากจะเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพ เรียนรู้เทคนิคการเลี้ยงผึ้ง กับลุงเดิมสวนผึ้งได้ที่นี่เลยค่ะ
คุณทวีศักดิ์ เล่าว่า เหตุที่ตนหันมาเลี้ยงผึ้งนั้น เพราะเป็นอาชีพที่บิดา(ลุงเดิม)ทำก่อน และช่วยบิดาเลี้ยงเรื่อยมา เมื่อบิดาอายุมากขึ้นตนจึงได้ยึดอาชีพนี้ต่อ และรับเอาความรู้เรื่องเลี้ยงผึ้งจากลุงเดิมมาอย่างหมดเปลือก
นำกล่องเลี้ยงผึ้งมาวางไว้ในสวนผลไม้ในช่วงไม้ผลออกดอก นอกจากจะได้น้ำหวานแล้ว ผึ้งยังช่วยผสมเกษรอีกด้วย
การเลี้ยงผึ้งของลุงเดิมและเกษตรกรซำเบ็งน้อยนั้นจะเลี้ยงในสวนผลไม้ เช่น สวนเงาะ ทุเรียน ลำไย เป็นต้น เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่จะทำสวน ทำไร่ กันเป็นอาชีพหลัก ซึ่งการเลี้ยงจะเลี้ยงในสวนผลไม้ในช่วงที่ไม้ผลออกดอก และจะย้ายไปเลี้ยงทางภาคเหนือในช่วงที่ดอกไม้ทางเหนือออก (กันยายน- ธันวาคม) น้ำผึ้งที่ได้เป็นน้ำผึ้งแท้ 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งได้รับคัดสรรเป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว ที่ได้ความนิยมจากผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งแท้ 100% ของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งซำเบ็งน้อยเป็นสินค้า OTOPที่นำไปแสดงและจำหน่ายตามงานแสดงสินค้าทั่วประเทศ
เทคนิคการเลี้ยงผึ้งของลูงเดิม คือ ผู้เลี้ยงต้องจะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ นิสัยและพฤติกรรมต่าง ๆ ของผึ้งซึ่งหัวใจที่สำคัญที่สุดของการเลี้ยงผึ้งอยู่ที่การจัดการดูแลและปฏิบัติการภายในรังผึ้ง ต้องจัดการปรับสภาพแวดล้อมในรังให้เหมาะสมให้ผึ้งมีสุขภาพอนามัยดี มีประชากรที่มีคุณภาพ ผู้เลี้ยงผึ้งเข้าใจขั้นตอนในการปฏิบัติต่อผึ้งตามระยะเวลาต่าง ๆ อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เข้าใจฤดูกาลของดอกไม้บาน ช่วงการบานของดอกไม้ที่ผึ้งจะได้ประโยชน์ และชนิดของพืชพันธุ์ที่จะเอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงผึ้ง
เกษตรกรท่านใดสนใจอยากจะเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริม ต้องเตรียมอุปกรณ์ ดังนี้
อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเลี้ยงผึ้งในระยะแรก ประกอบด้วย ตัวกล่องรังผึ้งพร้อมคอนและแผ่นรังเทียม รวมทั้งฝารังและฐานรังเครื่องพ่นควัน เหล็กงัดรังผึ้ง ชุดกันผึ้งต่อย (หมวก ตาข่าย ถุงมือ ฯลฯ) ข้อนี้คุณทวีศักดิ์บอกว่าสำคัญสำหรับผู้เลี้ยงผึ้งงที่ยังไม่ชำนาญ สำหรับอุปกรณ์ของกล่องหรือตัวรังผึ้งและคอนผึ้งควรจะเตรียมเผื่อไว้ให้มากกว่าจำนวนรังที่จะเริ่มเลี้ยงเพราะเวลาจะแยกรัง เสริมรัง จะได้ไม่ขาดช่วง เพราะการเลี้ยงผึ้งจะต้องมีการต่อเนื่องและเตรียมการล่วงหน้าให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา การเตรียมการทุกอย่างให้ทันต่อเวลาเป็นหัวใจของการเลี้ยงผึ้ง ถ้าเข้าใจระบบชีววิทยา และพฤติกรรมของผึ้งในสังคมผึ้งได้ดีพอแล้ว ก็สามารถจะเตรียมการต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและจังหวะต่าง ๆ ในวงจรชีวิตของผึ้งได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงผึ้งได้
เมื่อเตรียมอุปกรณ์ครบแล้ว ไปดูวิธีการเลี้ยงกันเลยค่ะ
เทคนิคการเลี้ยงและการแยกขยายรังผึ้ง มีขั้นตอนดังนี้
1. ทำการแยกรังผึ้งจากรังที่ต้องการแยกโดยคัดเลือกเอาคอนอาหาร 1 คอน คอนดักแด้แก่ ๆ 1 คอน คอนหนอนใหญ่ 1 คอน รวม 3 คอน มาใส่ในรังแยก (ห้ามมีนางพญาผึ้งติดมาด้วย) เสร็จแล้วตั้งทิ้งไว้ประมาณ 2 – 3 วัน
2. คัดเลือกเอาคอนหนอนตัวเล็ก ๆ จากรังดี ๆ (หนอนอายุ 1 – 2 วัน) มาเสียบตรงกลางรวมกับคอนเดิมแล้วเป็น 4 คอน ผึ้งงานก็จะป้อนนมผึ้งให้หนอนเล็ก ๆกลายเป็นหลอดนางพญารวมแล้วหลาย ๆ หลอด ผู้เลี้ยงต้องตรวจเช็คทำการคัดเลือกหลอดที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ 1 – 2 หลอด ที่เหลือให้ทำลายทิ้ง จากนั้นก็จะได้นางพญาตัวใหม่เข้าสู่กระบวนการผสมพันธุ์ และสร้างผึ้งงานต่อไป
การเลี้ยงคุณทวีศักดิ์ จะเลี้ยงผึ้งขนาดรัง 5 คอน (รังขนาดเล็ก)
ข้อดี ของการเลี้ยงแบบนี้ คือ ผึ้งมีจำนวนน้อย มีโอกาสตรวจตราศึกษาการเจริญเติบโตของผึ้งและชีวิตสังคมของ ผึ้งได้ง่ายและใกล้ชิด ผึ้งจำนวนไม่แน่นนัก จึงไม่ค่อยดุ โอกาสที่จะโดนผึ้งต่อยมีน้อย มีโอกาสที่จะฝึกและหาความชำนาญในการเลี้ยงผึ้งเป็นขั้นตอนต่อเนื่อง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุน
ข้อดี ของการเลี้ยงแบบนี้ คือ ผึ้งมีจำนวนน้อย มีโอกาสตรวจตราศึกษาการเจริญเติบโตของผึ้งและชีวิตสังคมของ ผึ้งได้ง่ายและใกล้ชิด ผึ้งจำนวนไม่แน่นนัก จึงไม่ค่อยดุ โอกาสที่จะโดนผึ้งต่อยมีน้อย มีโอกาสที่จะฝึกและหาความชำนาญในการเลี้ยงผึ้งเป็นขั้นตอนต่อเนื่อง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุน
ผึ้งนางพญา ต้องมีรังละ 1 ตัว เท่านั้น เพราะถ้าภายในรังมีผึ้งนางพญามากกว่าหนึ่งตัว ผึ้งนางพญาอีกตัวจะบินออกนอกรัง เมื่อถึงฤดูกาลผสมพันธุ์และจะพาบรรดาผึ้งงานส่วนหนึ่งออกไปสร้างรังใหม่ด้วย ต้องทำการตรวจดูนางพญาผึ้ง การหานางพญา ส่วนใหญ่จะพบในคอนที่มีตัวอ่อนและ คอนที่มีผึ้งเกาะอยู่หนาแน่น ถ้าเป็นรังที่มี 10 คอน ก็จะพบอยู่ประมาณคอนที่ 3 หรือคอนที่ 4 นับจากข้างริมนอกสุดของรังการเลี้ยงผึ้งจาก 5 คอน จะพบนางพญาได้ง่าย ผึ้งนางพญา ที่จะนำมาทำพันธุ์ต้องมีลักษณะดีตามความต้องการและให้ผลผลิตสูงเพื่อให้ลักษณะที่ดีถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน
การเลี้ยงผึ้งนั้นผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลตรวจตราและจัดการภายในรังผึ้งสม่ำเสมอ ซึ่งเวลาที่ควรจะเข้าไปตรวจเช็ครัง เวลากลางวันในช่วงตอนเช้า หรือตอนเย็นที่มีอากาศแจ่มใสท้องฟ้าโปร่งไม่ร้อนอบอ้าว ผึ้งจะอารมณ์ดี ถ้าผึ้งหิวขาดอาหารและถูกรบกวนบ่อย อากาศอบอ้าว จะมีฝนหรือมีพายุ ผึ้งรังนั้นจะดุ และเวลาที่ผึ้งอารมณ์ไม่ดีก็จะดุเป็นพิเศษ ซึ่งก่อนการตรวจรัง การเปิดรัง ผู้เลี้ยงต้องพ่นควันเพื่อลดความดุร้ายของผึ้ง เวลาจะเปิดรังไม่ควรยืนอยู่ข้างหน้ารัง เป็นการขวางทางเข้าออกของผึ้ง ให้ยืนอยู่ด้านข้าง หรือด้านหลังรัง ถ้าเป็นไปได้ให้แสงแดดอยู่ด้านหลังรัง หรือด้านหลังผู้ปฏิบัติงานตลอดเวลา เพื่อจะเป็นการสะดวกและง่ายที่จะมองเห็นไข่ ตัวอ่อนภายในหลอดรังผึ้ง
การให้อาหารผึ้ง จะให้น้ำตาลทรายเสริมในช่วงที่น้ำหวานจากดอกไม้ธรรมชาติขาดแคลน และควรย้ายกล่องเลี้ยงผึ้งไปบริเวณที่ต้นไม้เริ่มออกดอก เพื่อเก็บเกสร ซึ่งบริเวณชุมชนของคุณทวีศักดิ์สวนใหญ่ช่วงนี้จะทำสวนข้าวโพด ช่วงนี้คุณทวีศักดิ์ก็อาศัยเก็บดอกข้าวโพดเป็นอาหารผึ้ง
หลังจากเลี้ยงไปซักระยะ ผู้เลี้ยงจะต้องตรวจดูปริมาณผึ้ง ปริมาณผึ้งควรจะพอดีเกาะเต็มทุกด้านของคอนทุกคอน และ ไต่ตอมขึ้นมาถึงด้านบนของคอน บางครั้งควรจะพอดีเกาะเต็มทุกด้านของคอนทุกคอน และไต่ตอมขึ้นมาถึงด้านบนของคอน บางครั้งถ้าปริมาณผึ้งหนาแน่นเกินไป ผึ้งจะสร้างไขผึ้งขึ้นมาติดถึงฝารัง ปริมาณผึ้งจะแน่นแสดงว่าผึ้งต้องการที่อยู่เพิ่ม ต้องเสริมคอนเข้าไปทีละ 1 คอน การเสริมคอนเข้าไปมากกว่าปริมาณผึ้ง จะทำให้ผึ้งรังนั้นอ่อนแอลงเพราะต้องกระจายประชากรไปให้ทั่วคอนทำให้ความสัมพันธ์ของผึ้งต่อปริมาณคอนและเนื้อที่ที่ผึ้งจะอยู่ไม่มีความสมดุลย์กัน อัตราการขยายประชากรจะช้าลง ดังนั้นเมื่อตรวจพบว่าผึ้งมีปริมาณตัวน้อยไม่สมดุลย์กับปริมาณคอนที่มีอยู่ในรัง ต้องเลือกเก็บคอนที่ไม่ต้องการออกไปเก็บไว้ที่อื่นก่อนโดยการสลัดตัวผึ้งออกให้หมดเสียก่อนแล้วจึงนำไปเก็บไว้ในที่เก็บ และต้องเรียงลำดับคอน การเรียงลำดับคอนผึ้ง จะเริ่มต้นด้วยคอนอาหาร คอนหนอน คอนไข่ และคอนดักแด้
ผึ้งเต็มคอน
การขนย้ายกล่องรังผึ้ง เพื่อไปเก็บน้ำหวาน ช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม ลำไยทางภาคเหนือจะออกดอกคุณทวีศักดิ์จะขนย้ายผึ้งเพื่อไปเก็บน้ำหวานที่เชียงใหม่ประมาณ1 เดือนครึ่ง แต่ช่วงนี้จะเน้นเก็บดอกยางพารา เงาะ ทุเรียน และข้าวโพด
น้ำผึ้งที่ได้เป็นน้ำผึ้งบริสุทธิ์ 100%
ซึ่งเกิดจากการที่ผึ้งนำน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ที่ผึ้งบินไปตอมซึ่งเป็นน้ำหวานจากธรรมชาติมาแล้วใช้กระบวนการตามธรรมชาติ เปลี่ยนแปลงมาเป็นน้ำผึ้ง ซึ่งน้ำผึ้งที่ได้มานั้นย่อมขึ้นอยู่กับวัตถุดิบหรือชนิดของเกสรดอกไม้ที่ผึ้งตอม รวมถึงสภาวะแวดล้อมของพืชชนิดนั้นๆ และบริเวณที่ผึ้งเจริญเติบโตอยู่ เพราะฉะนั้นน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งป่า หรือผึ้งที่เลี้ยงในป่าแบบปล่อยธรรมชาติ จึงมีความสมบูรณ์และมีแร่ธาตุอาหารที่แตกต่างจากน้ำผึ้งเลี้ยงในฟาร์มผึ้ง ซึ่งน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งที่คุณทวีศักดิ์และกลุ่มเลี้ยงนั้นจะเป็นน้ำผึ้งแท้ 100 % ไม่มีการเจือจาง และได้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 4 ดาว ที่นำไปจำหน่ายในงานต่างๆ ทั่วประเทศ
น้ำผึ้งแท้ 100% ของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งซำเบ็งน้อย จังหวัดศรีสะเกษ
ท่านใด้สนใจน้ำผึ้งแท้ 100% จากกลุ่มเลี้ยงผึ้งซำเบ็งน้อย ติดต่อสอบถามได้ที่ลุงเดิม 084-6312643 (กรุณาติดต่อในเวลาที่เหมาะสมนะค่ะ) จำหน่ายทั้งปลีกและส่งจ้า
แหล่งที่มาของข้อมูล :
คุณคุรประเดิม โทบุตดี
ที่อยู่ : หมู่ที่14 ตำบลกระแชง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
และ รักบ้านเกิด.com